เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 มีการจัดบรรยายครั้งที่ 6 ของ WEBINAR SERIES 2021 ในธีม “LIVING IN THE NEW NORMAL AND BEYOND” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสมาคมศิษย์เก่า JAAP ร่วมกับองค์การส่งเสริมวิชาการแห่งประเทศญี่ปุ่น (JSPS)
การบรรยายเริ่มต้นด้วยคำกล่าวต้อนรับโดย ดร. Julius Caesar V. Sicat ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการประจำภูมิภาคของกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฟิลิปปินส์ (DOST) หลังจากนั้น ดร. Danilda Haufana-Duran ประธานสมาคมศิษย์เก่า JAAP และนักวิทยาศาสตร์ภายใต้หน่วยงาน Philippine Carabao Center
หลังจากนั้น ดร. Leah J. Buendia ผู้ช่วยเลขานุการความร่วมมือระหว่างประเทศ DOST และ ดร. Yoshio Otani ผู้อำนวยการ JSPS สำนักงานกรุงเทพฯ ได้มอบคำกล่าวทักทายแก่ผู้เข้าร่วมงานตามลำดับ
หลังจากนั้น ดร. Herb L. Fondevilla จากมหาวิทยาลัยเมจิกาคุอิน (Meiji Gakuin University) ในประเทศญี่ปุ่น ได้เริ่มบรรยายในหัวข้อ “Arts on Prescription: Pathways to Wellbeing and Dementia Care” หรือการใช้ศิลปะเข้ามาบำบัดผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) ในการบรรยายในครั้งนี้ ดร. Herb ได้กล่าวว่า ในปี 2002 47.5% ประชากรผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในประเทศญี่ปุ่นประสบกับปัญหาภาวะสมองเสื่อม และมีแนวโน้มว่าจำนวนของผู้ที่ประสบปัญหานี้จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายใน 20 ปี ทำให้ในปี 2012 กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ (Ministry of Health, Labour, and Welfare) ของประเทศญี่ปุ่น ได้กำหนดแผนพัฒนา 5 ปี เพื่อกำหนดมาตรการสร้างสภาพแวดล้อมและกิจกรรมที่เหมาสมให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อม เช่น การจัดตั้ง orange café เพื่อให้เหล่าผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทำอาหาร ทำงานฝีมือ ร้องเพลง หรือเล่นดนตรี เป็นต้น นอกจากในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการนำศิลปะมาใช้เพื่อบำบัดผู้ป่วยที่ประสบกับภาวะสมองเสื่อม เช่นกัน เช่น การใช้โปรแกรม Memories In the Making (MIM) ซึ่งให้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ วาดภาพสีน้ำจากประสบการณ์ที่น่าจดจำและน่าระลึกถึง หรือการให้กลุ่มผู้ป่วยจับกลุ่มกันเล่าถึงความหลังที่ผ่านมาในชีวิตของตนเอง เช่น ชีวิตในวัยเด็ก ชีวิตการแต่งงาน หรือประสบการณ์ในการทำงาน ผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า reminiscence arts เป็นต้น
อย่างไรก็ตามระบบการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ยังคงต้องการการพัฒนาต่อไป เนื่องมาจากกิจกรรมที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น ผู้ป่วยบางคนยังไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร เช่น ผู้ป่วยอาจรู้สึกอายที่จะเล่าประสบการณ์ในอดีตของตนเอง รวมถึงผู้ที่ต้องมาดูแลผู้ป่วยนั้นบางครั้งยังขาดความรู้หรือความเข้าใจถึงวิธีที่จะพูดคุยกับผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
หลังจากจบการบรรยายผู้เข้าร่วมได้มีคำถามมากมาย อาทิเช่น วิธีใดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการบำบัดผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม หรือ มีวิธีใดบ้างที่สามารถวัดผลได้ว่ากิจกรรมที่จัดให้ผู้ป่วยนั้นมีประสิทธิภาพและส่งผลดีต่อผู้ป่วยอย่างแท้จริง ซึ่ง ดร. Herb ก็ได้ตอบคำถามอย่างชัดเจนจากความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาของเธอ เช่น วิธีที่เหมาะสมที่สุดในการบำบัดรักษาผู้ป่วยคือการจัดกิจกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนให้ตรงตามความสนใจของผู้ป่วยแต่ละคน
โดยในท้ายที่สุดแล้ว ดร. Maria Rowena Eguia ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าของสมาคม JAAP ได้ทำการกล่าวปิดงาน ซึ่งการบรรยายนี้จบลงด้วยความเรียบร้อย โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 160 คน